วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

มรดโลก

คุณค่าของความเป็นมรดกโลก


ปัจจุบันสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานของอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนให้เห็นภาพของอาณาจักรสุโขทัยในความเป็น “รุ่งอรุณแห่งความสุข”เป็นต้นกำเนิดของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ได้พัฒนาเป็นรัฐสำคัญของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๐ เป็นเวลานานประมาณ ๒๐๐ ปี ด้วยความโดดเด่นนี้เองส่งผลให้เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ และได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ด้วยคุณค่าความโดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้

-  “เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์”
-  “เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว”

โบราณวัตถุสถานที่ปรากฏอยู่ในเมืองประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ เมืองนี้ แสดงให้เห็นถึงผลงานสร้างสรรค์อันล้ำเลิศของมนุษย์ ความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสุโขทัย เป็นต้นแบบที่ส่งอิทธิพลให้ศิลปกรรมไทยในระยะต่อมา ความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และพระพุทธรูปลีลา เป็นสิ่งยืนยันถึงความสำเร็จของศิลปกรรมไทยยุคแรกนี้ได้เป็นอย่างดี

การบริหารจัดการ
พื้นที่เมืองประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ แห่ง ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน   ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๔ โดยมีกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานบริหารจัดการและควบคุมดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ในการนี้กรมศิลปากรได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ แห่ง ในรูปของอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ให้ได้รับการคุ้มครอง อนุรักษ์ และพัฒนาอย่างเหมาะสมและสามารถดำรงคุณค่าความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติไว้ตลอดไป แผนการอนุรักษ์และพัฒนาดังกล่าว ประกอบด้วยแผนงานหลักในการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ การจัดระเบียบพื้นที่ทำกินของชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยว 

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘   กรมศิลปากรได้ว่าจ้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการจัดทำแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (ฉบับใหม่) โดยมีแนวคิดหลักของโครงการเป็นการวางแผนงานในเชิงบูรณาการ ที่พิจารณาโบราณสถานเป็นองค์ประกอบหลัก โดยกำหนดการวางแผนและผัง เพื่อพัฒนาให้บรรลุศักยภาพสูงสุดของพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียดของแผนงาน ดังนี้

๑. แผนงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน
๒. แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
๓. แผนจัดการชุมชน
๔. แผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน
๕. แผนพัฒนาภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม
๖. แผนส่งเสริมรายได้และอาชีพ
๗. แผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์

ปัจจุบันแผนแม่บทดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาและประเมินความเหมาะสม

ปัจจุบัน (พุทธศักราช ๒๕๕๓) กรมศิลปากร โดยคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ กำลังดำเนินการจัดทำและปรับปรุงแผนแม่บทแต่ละอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งในส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้กำหนดแผนงานเป็น ๘ แผนงาน ดังนี้

๑. แผนงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์และโบราณสถาน
๒. แผนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิทัศน์พื้นที่โบราณสถาน และการให้บริการนักท่องเที่ยว
๓. แผนการจัดระเบียบชุมชนและการใช้ประโยชน์ที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์
๔. แผนพัฒนาบริการทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
๕. แผนพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ
๖. แผนงานเศรษฐกิจและสังคม
๗. แผนการโฆษณาประชาสัมพันธ์
๘. แผนพัฒนาสำนักงานบุคลากรและบริหารจัดการ

มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ในปัจจุบัน
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ในปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ มีลักษณะการใช้พื้นที่ทั้งส่วนที่เป็นโบราณสถานที่ได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร และพื้นที่ข้างเคียงซึ่งที่อยู่อาศัยของชุมชนท้องถิ่น โดยกำหนดและจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างชัดเจน รวมทั้งควบคุมสิ่งก่อสร้างและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารและใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตโบราณ สถาน ร่วมกันพิจารณาเพื่อนำเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมศิลปากรผู้อำนาจในการอนุญาต ปัจจุบันชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์เริ่มขยายตัวพร้อมๆ กับการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของเมืองประวัติศาสตร์และเป็นเมืองมรดกโลก เช่น การสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นภายในเขตเมืองเก่า ตลอดจนบดบังทัศนียภาพ หรือสภาพภูมิทัศน์ ทำให้ขาดความสง่างามและคุณค่าของโบราณสถาน รวมทั้งการขาดหน่วยงานที่ต้องดำเนินการ ด้านอนุรักษ์การอย่างพอเพียง ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ให้ตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม และช่วยกันดูแลรักษาให้เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าตกทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

แหล่งที่มา :
http://haab.catholic.or.th


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น