วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย



 งานประเพณีลอยกระทงของไทย มีมาแต่สมัยสุโขทัยโดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการบูชา และขอขมาพระแม่คงคาเป็นการสะเดาะเคราะห์
และบูชาพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระบาทเป็นต้น งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่ กลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12
ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ ช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เพราะพระจันทร์เต็มดวง ทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องเวลา
กลางคืน เป็นบรรยากาศที่สวยงาม เหมาะแก่การลอยกระทง
          บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน กล่าวไว้ว่า การลอยพระประทีป ลอยกระทงนี้
เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์
อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่า ตรงกับคำที่ว่า ลอยโคมลงแช่น้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับถือว่าเป็นราช
ประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมนเฑียรบาลซึ่งได้ยกมาอ้างในเบื้องต้น ต่อความที่ว่า
พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำไป มีข้อความต่อไปว่า "ตั้งระทาดอกไม้ในพระเมรุ 4 ระทา หนัง 2 โรง" การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้
เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและที่ชลาทรงบาตร บูชาหอพระในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยการลอยพระประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มี
เนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งแต่
กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่าในเวลาฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาเสด็จลงประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสี
และพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามารับ
ราชการ จึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล และคิดคำขับร้องถวายแด่พระเจ้า
แผ่นดิน ทรงพระดำริจัดเรือพระที่นั่งเทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง
          หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้บรรยายถึงลักษณะของกระทงที่นางนพมาศประดิษฐ์ถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า ดังนี้
          "...การพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นวันนักขัตฤกษ์ชักโคม ลอยโคม นางนพมาศ ได้ประดิษฐ์โคมลอย ตกแต่งเป็นรูป
ดอกกระมุทมาน กลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากระทงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษา
ลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุระคณาวิหคหงส์ ให้จับจิกเกสรบุปผชาติอยู่ตามดอกกระมุท เป็นระเบียบเรียบร้อยวิจิตรไปด้วยสีย้อมสดสว่างควร
จะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซม เทียน ธูป และประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค..." (ดอกกระมุท หรือ โกมุท เป็นดอกบัวประเภทบัวเผื่อน
บัวผัน ที่ขยายกลีบบานในเวลากลางคืน กลางวันหุบ ระแทะ คือ ล้อเกวียน) นอกจากการลอยกระทงแล้ว ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บรรทัดที่ 14 ยังได้
กล่าวถึงการเผาเทียนเล่นไฟว่า
          "...เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟเมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก..."
          ท่านผู้รู้หลายท่านสันนิษฐานว่างานดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นการเผาเทียน เล่นไฟ ในงานเทศกาลลอยกระทง เพราะมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก
จากข้อความในศิลาจารึกตอนนี้นายนิคม มุสิกคามะ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเมื่อปี พ.ศ.2520 ได้เสนอให้จังหวัด
สุโขทัยจัดงานพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ประเพณีลอยกระทงขึ้นให้เป็นงานระดับชาติ เพื่อแนะนำจังหวัดสุโขทัย ให้ชื่องานตามคำในศิลาจารึกว่า
"งานเผาเทียน เล่นไฟ" จุดเน้นที่เป็นหัวใจของงานนี้ คือ การฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟชนิด
ต่าง ๆ ดังนั้นจังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกันจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520
เป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว



เอกลักษณ์ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ เป็นที่เลื่องลือ มีทั้งกระทงทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ งานฝีมืออันวิจิตรที่สะท้อนความประณีตของ
ช่างศิลป์เมืองสุโขทัย ตลาดปสานโบราณ หรือ ตลาดแลกเบี้ย การจำลองบรรยากาศการซื้อ ขาย แบบโบราณ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงกลิ่นอาย
วัฒนธรรมด้วยการแลกหอยเบี้ยแทนเงินสด เพื่อใช้ซื้อขาย อาหารพื้นเมือง และการแสดงแสง สี เสียง สัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์มนต์เสน่ห์แห่ง
อารยธรรมเมืองมรดกโลก

พิธีและกิจกรรมในภาคกลางวันจะมีขบวนแห่นางนพมาศ และการออกร้าน จัดนิทรรศการ ส่วนในเวลากลางคืนจะมีการประดับไฟหรือจุด
เทียนตามโบราณสถานต่างๆ ซึ่งมีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของงานประเพณีลอยกระทงสุโขทัย มีจุดประทีปโคมไฟตามโบราณสถาน 3 วัน
3 คืน มีการลอยกระทง และจุดดอกไม้ไฟอย่างสวยงามทั่วท้องน้ำและตระพังต่าง ๆ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการจัดประกวดกระทง
การแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย ณ บริเวณวัดมหาธาตุ ตลอดจนการแสดงนาฏศิลป์ และมหรสพต่าง ๆ


 สำหรับงานเผาเทียน จังหวัดสุโขทัยได้จัดให้มีพิธีเผาเทียนแบบโบราณบริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดย
เชิญชวนให้ประชาชนทั้งหลายร่วมพิธีซื้อตะคัน เผาเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดแล้วนำไปวางบนฐานหรือระเบียงโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ โบราณสถาน

ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทำให้เกิดแสงสว่างระยิบระยับนับร้อยนับพันดวง เป็นบุญกุศลที่ได้ร่วมแรงศรัทธาพร้อมกัน

นอกจากนี้ ในงานยังมีประเพณี “ข้าวขวัญวันเล่นไฟ” ซึ่งเป็นการรับประทานอาหารร่วมกันของผู้มาเยือนเมืองสุโขทัยในโอกาสงานประเพณี

เผาเทียนเล่นไฟ ช่วงเวลาประมาณ 18.00-19.30น. วัตถุประสงค์สำคัญ คือ เป็การรักษาธรรมเนียมไทยในการเลี้ยงข้าวปลาอาหาร เพื่อสร้าง
ความรักความเข้าใจ กระชับสัมพันธไมตรี ทำให้เกิดความสุขความเจริญตลอดทั้งปี บรรยากาศในงานมุ่งเน้นเอกลักษณ์ไทย ทั้งการแต่งกายแบบ
ไทย ๆ การนั่งล้อมวงบนเสื่อ การใช้โตกแทนโต๊ะอาหาร การเลือกอาหารพื้นบ้าน การตั้งอาหารย้อนสู่ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี การแสดงของท้องถิ่น
สุโขทัย ตลอดจนการบรรเลงดนตรีไทย โดยประเพณี “ข้าวขวัญวันเล่นไฟ”เริ่มจัดเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2536 และจัดต่อเนื่องมาทุกปี



สำหรับกิจกรรมอื่น นอกเหนือจากการลอยกระทง เผา เทียน เล่นไฟ และข้าวขวัญวันเล่นไฟ มีดังนี้

          • ชมโบราณสถานในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ยามค่ำคืน Light Up
          • ชมและเลือกซื้อสินค้าของดีสหกรณ์ 4 ภาค และผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น(OTOP)
          • ชมการแสดงตำนานเรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์
          • พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข พร้อมร่วมพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง
มหาราช

          • ชมขบวนอัญเชิญพระประทีป และกระทงพระราชทาน ขบวนแห่ประเพณีวัฒนธรรม 9 อำเภอ และขบวนนางนพมาศ

แหล่งที่มา : 
http://www.stou.ac.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น