วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

มรดโลก

คุณค่าของความเป็นมรดกโลก


ปัจจุบันสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานของอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนให้เห็นภาพของอาณาจักรสุโขทัยในความเป็น “รุ่งอรุณแห่งความสุข”เป็นต้นกำเนิดของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ได้พัฒนาเป็นรัฐสำคัญของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๐ เป็นเวลานานประมาณ ๒๐๐ ปี ด้วยความโดดเด่นนี้เองส่งผลให้เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ และได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ด้วยคุณค่าความโดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้

-  “เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์”
-  “เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว”

โบราณวัตถุสถานที่ปรากฏอยู่ในเมืองประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ เมืองนี้ แสดงให้เห็นถึงผลงานสร้างสรรค์อันล้ำเลิศของมนุษย์ ความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสุโขทัย เป็นต้นแบบที่ส่งอิทธิพลให้ศิลปกรรมไทยในระยะต่อมา ความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และพระพุทธรูปลีลา เป็นสิ่งยืนยันถึงความสำเร็จของศิลปกรรมไทยยุคแรกนี้ได้เป็นอย่างดี

การบริหารจัดการ
พื้นที่เมืองประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ แห่ง ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน   ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๔ โดยมีกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานบริหารจัดการและควบคุมดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ในการนี้กรมศิลปากรได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการจัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ทั้ง ๓ แห่ง ในรูปของอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ให้ได้รับการคุ้มครอง อนุรักษ์ และพัฒนาอย่างเหมาะสมและสามารถดำรงคุณค่าความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติไว้ตลอดไป แผนการอนุรักษ์และพัฒนาดังกล่าว ประกอบด้วยแผนงานหลักในการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ การจัดระเบียบพื้นที่ทำกินของชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยว 

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘   กรมศิลปากรได้ว่าจ้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการจัดทำแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (ฉบับใหม่) โดยมีแนวคิดหลักของโครงการเป็นการวางแผนงานในเชิงบูรณาการ ที่พิจารณาโบราณสถานเป็นองค์ประกอบหลัก โดยกำหนดการวางแผนและผัง เพื่อพัฒนาให้บรรลุศักยภาพสูงสุดของพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียดของแผนงาน ดังนี้

๑. แผนงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน
๒. แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
๓. แผนจัดการชุมชน
๔. แผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน
๕. แผนพัฒนาภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม
๖. แผนส่งเสริมรายได้และอาชีพ
๗. แผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์

ปัจจุบันแผนแม่บทดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาและประเมินความเหมาะสม

ปัจจุบัน (พุทธศักราช ๒๕๕๓) กรมศิลปากร โดยคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ กำลังดำเนินการจัดทำและปรับปรุงแผนแม่บทแต่ละอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งในส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้กำหนดแผนงานเป็น ๘ แผนงาน ดังนี้

๑. แผนงานโบราณคดี ประวัติศาสตร์และโบราณสถาน
๒. แผนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิทัศน์พื้นที่โบราณสถาน และการให้บริการนักท่องเที่ยว
๓. แผนการจัดระเบียบชุมชนและการใช้ประโยชน์ที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์
๔. แผนพัฒนาบริการทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
๕. แผนพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ
๖. แผนงานเศรษฐกิจและสังคม
๗. แผนการโฆษณาประชาสัมพันธ์
๘. แผนพัฒนาสำนักงานบุคลากรและบริหารจัดการ

มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ในปัจจุบัน
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ในปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ มีลักษณะการใช้พื้นที่ทั้งส่วนที่เป็นโบราณสถานที่ได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร และพื้นที่ข้างเคียงซึ่งที่อยู่อาศัยของชุมชนท้องถิ่น โดยกำหนดและจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างชัดเจน รวมทั้งควบคุมสิ่งก่อสร้างและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารและใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตโบราณ สถาน ร่วมกันพิจารณาเพื่อนำเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมศิลปากรผู้อำนาจในการอนุญาต ปัจจุบันชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์เริ่มขยายตัวพร้อมๆ กับการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของเมืองประวัติศาสตร์และเป็นเมืองมรดกโลก เช่น การสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้นภายในเขตเมืองเก่า ตลอดจนบดบังทัศนียภาพ หรือสภาพภูมิทัศน์ ทำให้ขาดความสง่างามและคุณค่าของโบราณสถาน รวมทั้งการขาดหน่วยงานที่ต้องดำเนินการ ด้านอนุรักษ์การอย่างพอเพียง ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ให้ตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม และช่วยกันดูแลรักษาให้เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าตกทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

แหล่งที่มา :
http://haab.catholic.or.th


วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วีดีโอท่องเที่ยวสุโขทัย


การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย

ศิลาจารึกและการกำเนิดอักษรไทย

หลงรักสุโขทัย

ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย



 งานประเพณีลอยกระทงของไทย มีมาแต่สมัยสุโขทัยโดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการบูชา และขอขมาพระแม่คงคาเป็นการสะเดาะเคราะห์
และบูชาพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระบาทเป็นต้น งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่ กลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12
ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ ช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เพราะพระจันทร์เต็มดวง ทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องเวลา
กลางคืน เป็นบรรยากาศที่สวยงาม เหมาะแก่การลอยกระทง
          บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน กล่าวไว้ว่า การลอยพระประทีป ลอยกระทงนี้
เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์
อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่า ตรงกับคำที่ว่า ลอยโคมลงแช่น้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับถือว่าเป็นราช
ประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมนเฑียรบาลซึ่งได้ยกมาอ้างในเบื้องต้น ต่อความที่ว่า
พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำไป มีข้อความต่อไปว่า "ตั้งระทาดอกไม้ในพระเมรุ 4 ระทา หนัง 2 โรง" การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้
เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและที่ชลาทรงบาตร บูชาหอพระในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยการลอยพระประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มี
เนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งแต่
กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่าในเวลาฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาเสด็จลงประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสี
และพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามารับ
ราชการ จึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล และคิดคำขับร้องถวายแด่พระเจ้า
แผ่นดิน ทรงพระดำริจัดเรือพระที่นั่งเทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง
          หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้บรรยายถึงลักษณะของกระทงที่นางนพมาศประดิษฐ์ถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า ดังนี้
          "...การพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นวันนักขัตฤกษ์ชักโคม ลอยโคม นางนพมาศ ได้ประดิษฐ์โคมลอย ตกแต่งเป็นรูป
ดอกกระมุทมาน กลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากระทงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษา
ลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุระคณาวิหคหงส์ ให้จับจิกเกสรบุปผชาติอยู่ตามดอกกระมุท เป็นระเบียบเรียบร้อยวิจิตรไปด้วยสีย้อมสดสว่างควร
จะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซม เทียน ธูป และประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค..." (ดอกกระมุท หรือ โกมุท เป็นดอกบัวประเภทบัวเผื่อน
บัวผัน ที่ขยายกลีบบานในเวลากลางคืน กลางวันหุบ ระแทะ คือ ล้อเกวียน) นอกจากการลอยกระทงแล้ว ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บรรทัดที่ 14 ยังได้
กล่าวถึงการเผาเทียนเล่นไฟว่า
          "...เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟเมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก..."
          ท่านผู้รู้หลายท่านสันนิษฐานว่างานดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นการเผาเทียน เล่นไฟ ในงานเทศกาลลอยกระทง เพราะมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก
จากข้อความในศิลาจารึกตอนนี้นายนิคม มุสิกคามะ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเมื่อปี พ.ศ.2520 ได้เสนอให้จังหวัด
สุโขทัยจัดงานพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ประเพณีลอยกระทงขึ้นให้เป็นงานระดับชาติ เพื่อแนะนำจังหวัดสุโขทัย ให้ชื่องานตามคำในศิลาจารึกว่า
"งานเผาเทียน เล่นไฟ" จุดเน้นที่เป็นหัวใจของงานนี้ คือ การฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟชนิด
ต่าง ๆ ดังนั้นจังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกันจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520
เป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว



เอกลักษณ์ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ เป็นที่เลื่องลือ มีทั้งกระทงทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ งานฝีมืออันวิจิตรที่สะท้อนความประณีตของ
ช่างศิลป์เมืองสุโขทัย ตลาดปสานโบราณ หรือ ตลาดแลกเบี้ย การจำลองบรรยากาศการซื้อ ขาย แบบโบราณ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงกลิ่นอาย
วัฒนธรรมด้วยการแลกหอยเบี้ยแทนเงินสด เพื่อใช้ซื้อขาย อาหารพื้นเมือง และการแสดงแสง สี เสียง สัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์มนต์เสน่ห์แห่ง
อารยธรรมเมืองมรดกโลก

พิธีและกิจกรรมในภาคกลางวันจะมีขบวนแห่นางนพมาศ และการออกร้าน จัดนิทรรศการ ส่วนในเวลากลางคืนจะมีการประดับไฟหรือจุด
เทียนตามโบราณสถานต่างๆ ซึ่งมีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของงานประเพณีลอยกระทงสุโขทัย มีจุดประทีปโคมไฟตามโบราณสถาน 3 วัน
3 คืน มีการลอยกระทง และจุดดอกไม้ไฟอย่างสวยงามทั่วท้องน้ำและตระพังต่าง ๆ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการจัดประกวดกระทง
การแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย ณ บริเวณวัดมหาธาตุ ตลอดจนการแสดงนาฏศิลป์ และมหรสพต่าง ๆ


 สำหรับงานเผาเทียน จังหวัดสุโขทัยได้จัดให้มีพิธีเผาเทียนแบบโบราณบริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดย
เชิญชวนให้ประชาชนทั้งหลายร่วมพิธีซื้อตะคัน เผาเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดแล้วนำไปวางบนฐานหรือระเบียงโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ โบราณสถาน

ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทำให้เกิดแสงสว่างระยิบระยับนับร้อยนับพันดวง เป็นบุญกุศลที่ได้ร่วมแรงศรัทธาพร้อมกัน

นอกจากนี้ ในงานยังมีประเพณี “ข้าวขวัญวันเล่นไฟ” ซึ่งเป็นการรับประทานอาหารร่วมกันของผู้มาเยือนเมืองสุโขทัยในโอกาสงานประเพณี

เผาเทียนเล่นไฟ ช่วงเวลาประมาณ 18.00-19.30น. วัตถุประสงค์สำคัญ คือ เป็การรักษาธรรมเนียมไทยในการเลี้ยงข้าวปลาอาหาร เพื่อสร้าง
ความรักความเข้าใจ กระชับสัมพันธไมตรี ทำให้เกิดความสุขความเจริญตลอดทั้งปี บรรยากาศในงานมุ่งเน้นเอกลักษณ์ไทย ทั้งการแต่งกายแบบ
ไทย ๆ การนั่งล้อมวงบนเสื่อ การใช้โตกแทนโต๊ะอาหาร การเลือกอาหารพื้นบ้าน การตั้งอาหารย้อนสู่ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี การแสดงของท้องถิ่น
สุโขทัย ตลอดจนการบรรเลงดนตรีไทย โดยประเพณี “ข้าวขวัญวันเล่นไฟ”เริ่มจัดเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2536 และจัดต่อเนื่องมาทุกปี



สำหรับกิจกรรมอื่น นอกเหนือจากการลอยกระทง เผา เทียน เล่นไฟ และข้าวขวัญวันเล่นไฟ มีดังนี้

          • ชมโบราณสถานในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ยามค่ำคืน Light Up
          • ชมและเลือกซื้อสินค้าของดีสหกรณ์ 4 ภาค และผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น(OTOP)
          • ชมการแสดงตำนานเรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์
          • พิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข พร้อมร่วมพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง
มหาราช

          • ชมขบวนอัญเชิญพระประทีป และกระทงพระราชทาน ขบวนแห่ประเพณีวัฒนธรรม 9 อำเภอ และขบวนนางนพมาศ

แหล่งที่มา : 
http://www.stou.ac.th/

กำเนิดลายสือไทย



พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทยหรือตัวหนังสือไทยขึ้นเมื่อมหาศักราช ๑๒๐๕ (พุทธศักราช ๑๘๒๖) นับมาถึงพุทธศักราช ๒๕๒๖ ได้ ๗๐๐ ปีพอดี ในระยะเวลาดังกล่าว ชาติไทยได้สะสมความรู้ทั้งทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ และได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นสืบต่อกันมา โดยอาศัยลายสือไทยของพรองค์ท่านเป็นส่วนใหญ่ ก่อนสมัยสุโขทัย ชาติไทยเคยรุ่งเรืองอยู่ที่ไหนอย่างไร ไม่มีหลักฐานยืนยันให้ทราบแน่ชัด แต่เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นแล้ว มีศิลาจารึกและพงศาวดารเหลืออยู่เป็นหลักฐานยืนยันว่า ชาติไทยเคยรุ่งเรืองมาอย่างไรบ้าในยุคสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ในโอกาสครบรอบ ๗๐๐ ปีนี้ คนไทยทุกคนจึงควรน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านโดยพร้อมเพรียงกัน
                        ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีข้อความปรากฎว่า “เมื่อก่อนลานสืไทนี๋บ่มี ๑๒๐๕ สก ปีมแมพ่ขุนรามคํแหงหาใคร่ใจในใจแล่ใศ่ลายสืไทนี๋ สายสืไทนี๋ จี่งมีเพื่อขุนผู๋น๋นนใศ่ไว๋” หา แปลว่า ด้วยตนเอง (ไทยขาวยังใช้อยู่) ใคร่ในใจ แปลว่า คำนึงในใจ (จากพจนานุกรมไทยอาหม) ข้อความที่อ้างถึงแสดงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์ตัวหนังสือไทยแบบที่จารึกไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖
                        ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ ได้กล่าวไว้ในตำนานอักษรไทย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ว่า คำที่ใช้ในจารึกมีคำ  นี้ อยู่ต่อคำ ลายสือ ทุกแห่ง (สามแห่ง) หมายความว่า หนังสือไทยอย่างนี้ไม่มีอยู่ก่อน มิได้ประสงค์จะทรงแสดงว่า หนังสือของชนชาติไทยพึ่งมีขึ้นต่อเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ เซเดส์ ยังเห็นว่า พวกไทยน้อยซึ่งมาอยู่ทางลำน้ำยม ชั้นแรกเห็นจะใช้อักษรไทยซึ่งได้แบบมาจากมอญ  (ตำนานอักษรไทย หน้า ๑ หน้า ๖ และหน้า ๑๑) ต่อมาขอมมีอำนาจปกครองสุโขทัย พวกไทยคงจะศึกษาอักษรขอมหวัดที่ใช้ในทางราชการ แล้วจึงแปลอักษรเดิมของไทยมาเป็นรูปคล้ายตัวอักษรขอมหวัด ถ้าประสงค์จะสมมติว่าอักษรไทยเดิมเป็นอย่างไร ควรจะถือเอาอักษรอาหม (ใช้ในอัสสัม) กับอักษรไทยน้อย (ใช้ในอีสานและประเทศลาว) นี้เป็นหลัก นายฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้เขียนเรื่อง “สันนิษฐานเทียบการเขียนอักษรไทยกับอักษรขอมในสมัยพ่อขุนรามคำหง” ไว้ และได้สันนิษฐานว่า อักษรพ่อขุนรามคำแหงทุกตัวดัดแปลงนาจากอักษรขอมหวัด
                        หนังสือจินดามณีเล่ม ๑ ของหอสมุดแห่งชาติเลขที่ 11 เป็นสมุดไทยดำ มีข้อคามเหมือนกับจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งนายขจร สุขพานิช ได้มาจากกรุงลอนดอน แต่คลาดเคลื่อนน้อยกว่า มีข้อความว่า “อนึ่งมีในจดหมายแต่ก่อนว่า ศกราช ๖๔๕ มแมศก พญาร่วงเจ้า ได้เมืองศรีสัชนาไลยได้แต่งหนังสือไทย แล จ ได้แต่งรูปก็ดี แต่งแม่อักษรก็ดีมิได้ว่าไวแจ้ง อนึ่งแม่หนังสือแต่ ก กา กน ฯ,ฯ ถึงเกอยเมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว เห็นว่าพญาร่วงเจ้าจะแต่งแต่รูปอักษรไทย” แท้จริงพ่อขุนรามคำแหงมิได้ทรงแต่งแต่รูปอักษรไทยเท่านั้น แต่ยังได้ทรงเปลี่ยนอักษรวิธีการเขียนภาษาไทยให้ดีขึ้นกว่าเดินอีกปลายประการ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้านี้
มีหนังสือไทยเดิมก่อนลายสือไทยหรือไม่
                    ผู้เขียนเคยบรรยายไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ว่า ถ้าลายสือไทยนี้บ่อมี หมายความว่า หนังสือไทยชนิดนี้ไม่มี แต่คงจะมีหนังสือไทยแบบอื่นอยู่ก่อนแล้ว ในจารึกหลักเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงเมืองสุโขทัย ๑๔ ครั้ง ทุกครั้งใช้คำ เมืองสุโขทัยนี้ จะตีความว่า มีเมืองสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว แล้วจึงมาตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นใหม่กระนั้นหรือ ผู้เขียนเห็นว่า นี้เป็นแต่คำชี้เฉพาะ ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษก็คงจะตรงกับ the เท่านั้น มิได้หมายความว่า this เพราะฉะนั้น ที่ว่า ลายสือไทยนี้บ่มี คงมิได้หมายความว่ามีลายสือไทยอื่นอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนยอมรับว่าอาจจะมีหนังสือของไทยอาหมเกิดขึ้นทางอัสสัมในเวลาใกล้เคียงกับการก่อกำเนิดตัวหนังสือในสุโขทัยก็เป็นได้ (หนังสือรวมการบรรยายเรื่องตัวอักษรไทย หน้า ๕๕)
                        ประวัติไทยอาหมปรากฏอยู่ในหนังสือบูราณยี คำว่า ยี อาจจะตรงกับ สือ ในลายสือ หรือรากศัพท์เดียวกับ จื่อ ซึ่งใช้อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน แปลว่า จดจำ เช่นได้จื่อจำไว้ บูราณยีบอกประวัติผู้ครองราชย์มาตั้งแต่ยุคที่นิยมแต่งตำนานเป็นเทพนิยายลงมา ศักราชแรกที่กล่าวถึง คือ พ.ศ. ๑๗๓๓ ส่วนใหญ่เผ่าอื่นเริ่มมีประวัติเป็นหลักเป็นฐานไม่เก่าไปกว่ายุคไทยอาหม หากเก่ากว่านั้นขึ้นไป จะเป็นเรื่องเทพนิยายแบบพงศาวดารเหนือหรือตำนานเก่า ๆ ของเรา ซึ่งเกี่ยวกับปาฏิหาริย์เป็นส่วนมาก ประวัติศาสตจร์ไทยทุกเผ่ามาเริ่มจดเป็นหลักเป็นฐานในยุคพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าตัวหนังสือไทยคงจะเกิดขึ้นต้นยุคสุโขทัยนี้เอง เมื่อมีตัวหนังสือใช้แล้วก็อาจจะจดเรื่องราวย้อนหลังขึ้นไปได้อีกสองสามชั่วคน
                        อีกประการหนึ่ง ไม่เคยมีผู้พบจารึกภาษาไทยก่อนยุคสุโขทัยขึ้นไปเลย จริงอยู่เป็นไปได้ว่า คนไทยอาจจะมีตัวอักษรอื่นใช้อยู่ก่อนแล้ว แต่เผอิญจารึกหายไปหมด หรืออาจจะเขียนไว้บนไม้ไผ่ หรือสิ่งอื่นที่ผุพังไปได้ง่ายก็เป็นได้ แต่ถ้ามีตัวอักษรอื่นอยู่ก่อนแล้ว ตัวอักษรแบบนั้นก็น่าจะปรากฏขึ้นที่ใดที่หนึ่ง เพราะดินแดนตั้งแต่อัสสัมถึงเวียดนามและจีนตอนใต้ถึงมลายูมีคนไทยอาศัยอยู่ทั่วไป ทำไมจึงไม่ปรากฏตัวอักษรแบบดังกล่าวเลย ไม่ว่าจะจารึกไว้ในรูปลักษณะใด ๆ ทั้งสิ้น
                        ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแพร่หลายเข้าไปในล้านนา ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๖๒ วัดพระยืนว่า พระมหาสุมนเถรนำศาสนาพุทธนิกายรามัญวงศ์ หรือนิกายลังกาวงศ์เก่าเข้าไปในล้านนา เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๒ และได้เขียนจารึกด้วยตัวหนังสือสุโขทัยไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๔ ต่อมาตัวหนังสือสุโขทัยนี้ได้เปลี่ยนรูปร่าง และอักขรวิธีไปบ้างกลายเป็นตัวหนังสือฝักขาม และล้านนายังใช้ตัวหนังสือชนิดนี้มาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์            
                        เชียงตุงและเมืองที่ใกล้เคียงในพม่ามีศิลาจารึกอักษรฝักขาม ซึ่งดัดแปลงไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอยู่กว่า 10 หลัก เริ่มแต่ศิลาจารึกวัดป่าแดง พ.ศ. ๑๙๙๔ เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีจารึกที่เจดีย์อานันทะในพุกามเขียนด้วยตัวหนังสือสุดขทัย ประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๐–๑๙๔๐ อยู่หลักหนึ่ง
                        ในประเทศลาวมีจารึกเขียนไว้ที่ผนังถ้ำนางอันใกล้หลวงพระบางด้วยตัวอักษรสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับตัวหนังสือสมัยพระเจ้าลิไทย (พ.ศ. ๑๘๙๐–๑๙๑๑)
                        ไทยขาว ไทยดำ ไทยแดง เจ้าไทยในตังเกี๋ย ผู้ไทยในญวน และลาวปัจจุบันนี้ยังใช้ตัวอักษรที่กลายไปจากลายสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
                        ถ้าคนไทยมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว ก็คงจะไม่ยอมรับลายสือไทยเข้าไปใช้จนแพร่หลายกว้างขวางไปในหลายประเทศดังกล่าวมาแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากของที่เคยชินแล้วทำได้ยากมาก เป็นต้นว่า เราเคยเขียนคำว่า “น้ำ” บัดนี้ออกเสียเป็น “น้าม” แต่ก็มิได้เปลี่ยนวิธีเขียนให้ตรงกับเสียง
                        ผู้เขียนเห็นว่า ในชั้นแรกเมื่อคนไทยมิได้เป็นชนชั้นปกครอง ก็จำเป็นจะต้องเรียนตัวหนังสือที่ทางราชการบ้านเมืองใช้อยู่ เพื่ออ่านประกาศของทางราชการให้เข้าใจ ถ้าจะประดิษฐ์ตัวหนังสือขึ้นใช้เอง จะไปบังคับใครให้มาเรียนหนังสือดังกล่าว เมื่อใดคนไทยได้เป็นชนชั้นปกครองขึ้น ก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือ ที่ใช้กันอยู่ในถิ่นนั้นมาเป็นตัวหนังสือของไทย เช่น คนไทยในเมืองจีนคงดัดแปลงตัวหนังสือจีนมาใช้ คนไทยในล้านนาคงจะดัดแปลงตัวหนังสือมอญซึ่งนิยมใช้กันในถิ่นนี้มาก่อน ส่วนพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็น่าจะดัดแปลงตัวหนังสือขอมซึ่งนิยมใช้กันอยู่แถวลุ่มน้ำเจ้าพระยามาแต่เดิม หากมีตัวอักษรไทยเดิมอยู่แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชคงจะทรงใช้ตัวอักษรไทยเดิม หรือทรงดัดแปลงจากนั้นบ้างเล็กน้อยแทนที่จะดัดแปลงจากอักษรขอมเป็นส่วนใหญ่ แท้จริงนั้นมีเค้าเงื่อนอยู่ในพงศาวดารเหนือว่าพ่อขุนรามฯ ได้ทรงอาศัยนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่เชี่ยวชาญตัวหนังสือชาติต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงไทย ยกเว้นแต่จีนเพราะจีนใช้หลักการเขียนหนังสือเป็นรูปภาพผิดกับหลักการเขียนเป็นรูปพยัญชนะและสระแบบของไทย รูปอักษรของพ่อขุนรามคำแหงคล้ายตัวหนังสือลังกา บังคลาเทศ ขอม และเทวนาครี ฯลฯ เป็นต้นว่า ตัว จ ฉ หันหน้าไปคนละทางกับอักษรขอม แต่หันไปทางเดียวกับตัวอักษรลังกาที่มีใช้อยู่ก่อนแล้ว
                        สมัยพ่อขุนรามคำแหงยังไม่มีไม้หันอากาศ แต่ใช้พยัญชนะตัวเดียวกันหรือวรรคเดียวกันเขียนติดกัน เช่น อนน แทน อัน และ อฏฐ แทน อัฏฐ
                        พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้น โดยมิได้ทรงทราบว่ามีตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อน ข้อพิสูจน์ข้อหนังคือ ไทยอาหมและไทยคำที่ (ขำตี้) ออกเสียงคำ อัน คล้ายกับคำ อาน แต่เสียงสระสั้นกว่า และออกเสียง อัก-อาก อังอาง อัด-อาด อับ-อาบ เหมือนกับตัวหนังสือของเราโดยออกเสียงคำตนสั้นกว่าคำหลังในคู่เดียวกัน แต่ออกเสียง อัว ว่า เอา เพราะถือหลักการที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า อัว คือ อาว ที่เสียงสระสั้นลง พ่อขุนรามคำแหงทรงใช้ อวา (คืออัว) เป็นสระ อัว แทนที่จะเป็นสระ เอา หากคนไทยเคยอ่าน อัว เป็น เอา ซึ่งถูกตามหลักภาษาศาสตร์มาแต่เดิมแล้วคงยากที่จะเปลี่ยนแก้ให้อ่านเป็น อัว ซึ่งขัดกับความเคยชิน ฉะนั้นจึงน่าเชื่อว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ตัวหนังสือไทยขึ้นโดยมิได้ทรงทราบว่ามีตัวหนังสือไทยเดิมอยู่ก่อนแล้ว
                        พ่อขุนมังรายมหาราช (เป็นพระนามที่ถูกต้องของพระยาเม็งราย) คงจะได้ดัดแปลงตัวอักษรมอญมากใช้เขียนหนังสือไทยในเวลาใกล้เคียง ดังตัวอย่างอักษรในจารึกลานทองสุโขทัย พ.ศ. ๑๙๑๙
                        ส่วนไทยอาหมคงสร้างตัวหนังสือขึ้น ในระยะเวลาใกล้เคียงกับตัวหนังสือสุโขทัย ทั้งนี้เพราะคนไทยเริ่มจะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่นกว้างขวางออกไปในระยะนั้น อย่างไรก็ดี นักอ่านศิลาจารึกหลายท่านเชื่อว่า รูปตัวอักษรของไทยอาหมชี้ให้เห็นว่า อักษรไทยอาหมพึ่งเกิดใหม่หลังอักษรพ่อขุนรามคำแหงเป็นระยะเวลานานทีเดียว

คุณวิเศษของลายสือไทย
                        ๑. ลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหราราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวอักษรของชาติอื่นซึ่งเป็นลูกศิษย์ของชาวอินเดียวกล่าวคือ ชาติอื่นขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้โดยมิได้ประดิษฐ์พยัญชนะ และสระเพิ่มขึ้นให้พอกับเสียงพูดของคนในชาติ ยกตัวอย่างเช่น เขมรโบราณ เขียน เบก อ่านออกเสียงเป็น เบก แบก หรือ เบิก ก็ได้ ไทยใหญ่เขียน ปีน อ่านออกเสียเป็น ปีน เป็น หรือ แปน ก็ได้ เวลาอ่านจะต้องดูความหมายของประโยคก่อน จึงจะอ่านออกเสียให้ถูกต้อง
                        พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ตัวพยัญชนะสระอีกทั้งวรรณยุกต์ขึ้น เป็นต้นว่าได้เพิ่ม ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ สระอึ อือ แอ เอือ ฯลฯ ไม้เอก ไม้โท (ในรูปกากะบาท) จนทำให้สามารถเขียนคำไทยได้ทุกคำ
                        ๒. อักขรวิธีที่ใช้ สามารถเขียน ตาก-ลม แยกออกไปจากตา-กลม ทำให้อ่านข้อความได้ถูกต้องไม่กำกวม กล่าวถือ ถ้าเป็นอักษรควบกล้ำให้เขียนติดกัน ส่วนตัวสะกดให้เขียนแยกห่างออกไป เช่น ตา-กลม เขียนเป็น ตา กลํ ส่วน ตาก-ลม เขียนเป็น ตา ก ลํ
                        ๓. ตัวหนังสือแบบพ่อขุนรามฯ ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ นำสระมาเรียงอยู่ระดับเดียวกับพยัญชนะแบบเดียวกับตัวหนังสือของชาติตะวันตกทั้งหลาย น่าเสียดายที่สระเหล่านั้นถูกดึงกลับไปไว้ข้างบนตัวพยัญชนะบ้าง ข้างล่างบ้างในสมัยต่อมา ทั้งนี้เพราะคนไทยเคยชินกับวิธีเขียนข้างบนข้างล่างตามแบบขอมและอินเดีย ซึ่งเป็นต้นตำหรับดั้งเดิม ถ้ายังคงเขียนสระแบบพ่อขุนรามฯ อยู่ เราจะประหยัดเงินค่ากระดาษลงได้หนึ่งในสามทีเดียว เพราะทุกวันนี้จะต้องทิ้งช่องว่างระหว่างบรรทัดไว้เพื่อเขียนส่วนล่างของ ฏ ฐ สระ อุ อู วรรณยุกต์ และสระอือ รวมเป็นช่องว่างที่ต้องเตรียมไว้สี่ส่วนให้เขียนได้ไม่ซ้อนกัน ยิ่งมาถึงยุคคอมพิวเตอร์ การเก็บข้อมูล และการค้นหาข้อมูลจะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายได้มหาศาล แต่ตัวอักษรไทยในปัจจุบันบรรทัดเดียวคอมพิวเตอร์จะต้องกวาดผ่านตลอดบรรทัดไปถึง ๔ ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกกวาดพวกวรรณยุกต์ ครั้งที่สองกวาดพวกสระบน เช่น สระอี อึ ครั้งที่สามกวาดพวกพยัญชนะและครั้งที่สี่กวาดพวกสระล่าง คือ สระ อุ อู จึงทำให้เสียเวลาเป็นสี่เท่าของตัวอักษรของอังกฤษ ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จะกวาดเพียงบรรทัดละครั้งเดียว ถ้าใช้อักขรวิธีแบบของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เครื่องคอมพิวเตอร์จะกวาดเพียงบรรทัดละสองครั้ง ลดเวลาและค่าใช้จ่ายลงได้กว่าครึ่ง ถ้ายิ่งดัดแปลงให้วรรณยุกต์ไปอยู่บรรทัดเดียวกับพยัญชนะเสียด้วย ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงได้กว่าสี่เท่า
                        ๔. ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของตัวหนังสือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ พยัญชนะทุกตัวเขียนเรียงอยู่บรรทัดเดียวกัน ไม่มีตัวพยัญชนะซ้อนกันเหมือนตัวหนังสือของเขมร มอญ พม่า และไทยใหญ่ เช่น เขียน อฏฐ แทนที่จะเป็น อฏฐ  เซเดย์ได้กล่าวไว้ว่า การที่พระองค์ได้ทรงแก้ไขตัวอักษรของชาวสุโขทัยให้เรียงเป็นแนวเดียวกันได้นั้นเป็นการสำคัญยิ่ง แลควรที่ชาวสยามในปัจจุบันนี้ จะรู้สึกพระคุณ และมีความเคารพนับถือที่พระองค์ได้ทรงจัดแบบอักษรไทยให้สะดวดขึ้น ข้อนี้ให้มาก อนึ่ง ในสยามประเทศทุกวันนี้การคิดแบบเครื่องพิมพ์ดีดและการพิมพ์หนังสือได้เจริญรุ่งเรือง เป็นประโยชน์ยิ่งในวิชาความรู้แลทางราชการนับว่าเพราะพ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงพระราชดำริเปลี่ยนรูปอักษรขอมและเรียงพยัญชนะเป็นแนวเดียวกันให้สะดวกไว้ ส่วนบรรดาประเทศที่ยังใช้วิธีซ้อนตัวพยัญชนะ เช่นประเทศเขมรและประเทศลาว การพิมพ์หนังสือของประเทศเหล่านั้นเป็นการยาก ไม่สู้จำเริญ แลยังไม้มีผู้ใดในชาตินั้น ๆ ได้คิดจะออกแบบพิมพ์ดีดสำหรับตัวอักษรของตน ๆ เลย (พ.ศ. ๒๔๖๘)
                        ๕. ตัวอักษรทุกตัวสูงเท่ากัน หางจอง ศ ส ก็ขีดออกไปข้าง ๆ แทนที่จะสูงขั้นไปกว่าอักษรตัวอื่น ๆ หางของ ป และ ฝ สูงกว่าอักษรตัวอื่น ๆ เพียงนิดเดียว สระทุกตัวสูงเท่ากับพยัญชนะรวมทั้งสระ โอ ใอ และ ไอ ตัวอักษรแบบนี้เมื่อตีพิมพ์หางตัว ป และสระข้างล่าง ข้างบนจะไม่หักหายไปอย่างปัจจุบัน ไม่ต้องคอยตรวจซ่อมกันอยู่ตลอดเวลา
                        ๖. พ่อขุนรามคำหงมหาราชทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยให้เขียนได้ง่ายและรวดเร็ว พยัญชนะแต่ละตัวต่อเป็นเส้นเดียวตลอด ในขณะที่ตัวหนังสือขอมต้องเขียนสองหรือสามเส้นต่อพยัญชนะตัวหนึ่ง
                        ๗. ประการสุดท้าย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์รูปวรรณยุกต์ขึ้น ทำให้สามารถอ่านความหมายของคำได้ถูกต้องโดยไม่ต้องดูข้อความประกอบทั้งประโยค สมมติว่าเราเข้าใจภาษาไทยใหญ่เป็นอย่างดี แต่ถ้าจะอ่านภาษาไทยใหญ่ เขาเขียน ปีน คำเดียวอาจจะอ่านเป็น ปีน ปี่น ปี้น ปี๊น ปี๋น เป็น เป่น เป้น เป๊ เป๋น แปน แป่น แป้น แป๊น และ แป๋น รวมเป็น 15 คำ ถ้าไม่อ่านข้อความประกอบจะไม่ทราบว่าคำที่ถูกต้องเป็นคำใดกันแน่ แต่ตัวหนังสือของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อ่านได้เป็น ปีน แต่อย่างเดียว

แหล่งที่มา :
http://www.sukhothai.go.th

“เครื่องสังคโลก” ของดีเมือง “สุโขทัย”

“สุโขทัย” อันแปลความหมายได้ว่า“รุ่งอรุณแห่งความสุข” ในวันนี้คือเมืองมรดกโลกที่มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

สำหรับอดีตแห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของประวัติศาสตร์ต่างๆหลงเหลือปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตามากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่มรดกโลก“เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” ที่ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

นอกจากนี้จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบันยังมีมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดจากอดีตนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรกรุงสุโขทัย(ราชธานีสุโขทัย)มาจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือ “สังคโลก” ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัยในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20

สังคโลกหรือเครื่องสังคโลก คือเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งที่ผลิตขึ้นในอาณาจักรสุโขทัย เดิมมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย

มีการสันนิษฐานกันว่า คำว่า “สังคโลก” นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “สวรรคโลก” ซึ่งเป็นเชื่อเรียกเดิมของแหล่งเตาเผาที่เมืองศรีสัชนาลัย

เครื่องสังคโลกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นภาชนะ เครื่องใช้ เครื่องประดับอาคารต่างๆ ตลอดจนตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยแบ่งออกเป็นชนิดเนื้อดินเผา และชนิดเนื้อแกร่ง โดยชนิดเนื้อแกร่งนั้นก็ยังมีทั้งประเภทเคลือบน้ำยาและไม่เคลือบน้ำยา แต่ที่ผู้คนคุ้นเคยกันส่วนใหญ่จะเป็นประเภทเคลือบน้ำยา อาทิ เคลือบสีน้ำตาล เคลือบสีขาวขุ่น เคลือบสีเขียวไข่กา หรือที่คนไทยเรียกว่า “ศิลาดล” ที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เซลาดอน”(Celadon)



สังคโลกสุโขทัยมีลักษณะเด่นเป็นลวดลายเฉพาะตัวแบบสุโขทัยที่สามารถสังเกตได้ไม่ยาก เพราะพบอยู่มากเพียงไม่กี่ลายในจานหรือชาม เช่น รูปปลา กงจักร และดอกไม้ โดยเฉพาะรูปปลานั้นถือว่าเป็นลวดลายเฉพาะของที่นี่แห่งเดียว สันนิษฐานว่าเป็นรูปปลากา ที่เป็นปลาน้ำจืดรูปร่างคล้ายกับปลาตะเพียน

เครื่องสังคโลกคือหนึ่งในผลิตภัณฑ์ประจำเมืองสุโขทัยที่สอดรับกับนโยบายการท่องเที่ยวของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”(องต์การมหาชน) หรือ อพท. ที่มีแนวคิดในการเชื่อมโยงพื้นที่มรดกโลกเข้ากับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ในรูปแบบของ “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” (Creative Tourism) ที่มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมจากการไปท่องเที่ยวในสถานที่หรือชุมชนที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น มรดกทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ หรือภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบต่อกันมา

นอกจากนี้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยังสามารถต่อยอดเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักท่องเที่ยว จากการเข้าไปสัมผัสและได้รับประสบการณ์โดยตรงจากการลงมือทำ จนเกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักท่องเที่ยวและผู้คนที่อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้น อีกทั้งยังเกิดเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในรูปแบบของตัวเองได้อีกด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสังคโลกสุโขทัยนั้น ปัจจุบันนอกจากจะมีการอนุรักษ์ การผลิตส่งขายทั้งในและต่างประเทศแล้ว แหล่งผลิตเครื่องสังคโลกหลายที่หลายแห่งยังเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปลงมือทำ ลงมือปั้นดิน กันด้วยสองมือของตัวเอง

โดยจุดท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องสังคโลกที่เด่นๆใน จ.สุโขทัย ได้แก่ที่ “บ้านทุ่งหลวง” อ.คีรีมาศ ที่นี่เป็นหมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของสุโขทัยมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันชาวบ้านทุ่งหลวงยังคงผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งขายตามความถนัดของแต่ละคน ซึ่งคนที่ชอบตกแต่งบ้านคงชอบบ้านทุ่งหลวง เพราะที่นี่มีงานฝีมือเครื่องปั้นดินเผาจำพวกเครื่องใช้ไม้สอย ของประดับบ้าน ของตกแต่งสวน ไปจนถึงของที่ระลึกชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้ซื้อติดไม้ติดมือกันอย่างมากมาย



ส่วนใครที่อยากย้อนรอยไปดูกระบวนการผลิตเครื่องสังคโลกแบบโบราณแท้ๆนั้นก็ต้องไปที่ “ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก(เตาทุเรียง)” ที่ บ้านเกาะน้อย อ.ศรีสัชนาลัย ที่นี่เป็นหนึ่งในแหล่งเตาทุเรียงเก่าแก่และสำคัญของสุโขทัย

ที่ศูนย์ฯอนุรักษ์เตาสังคโลกมีการให้ความรู้ตั้งแต่การสร้างเตาทุเรียง กรรมวิธีการเผาเครื่องสังคโลก มีแบบจำลองเตาทุเรียงทั้ง 3 ยุค และยังมีเตาทุเรียงเก่าแก่ของจริงที่ขุดค้นพบบริเวณศูนย์ศึกษาฯ ที่ยังคงรูปร่างลักษณะของเตา และยังคงเหลือร่องรอยของเครื่องสังคโลกภายในเตาให้มองเห็นอยู่บ้าง

อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นแหล่งย้อนรอยสังคโลกสำคัญในสุโขทัยนั้นก็คือที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสวรรควรนายก” อ.สวรรคโลก ที่นี่มีทั้งความรู้เรื่องเมืองสวรรคโลกตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือมีการจัดแสดงเครื่องสังคโลกต่างๆในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่ผลิตในเมืองสวรรคโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัย และจากแหล่งอื่นๆ เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของแต่ละแห่ง ซึ่งนอกจากเครื่องสังคโลกที่เป็นถ้วยชาม หรือเครื่องใช้ต่างๆ แล้วก็ยังมีเครื่องประดับตามสถาปัตยกรรมต่างๆ รวมถึง ท่อน้ำดินเผา ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการชลประทานในสมัยสุโขทัย

จะเห็นได้ว่าเครื่องสังคโลกสุโขทัยคือมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่ตกทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถเชิงหัตถศิลป์ของบรรพชนในอดีต

สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สัมผัส เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสังคโลกสุโขทัยนั้น สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาต่อยอดสร้างสรรค์ให้เกิดผลงานหรือไอเดียใหม่ๆในชีวิตประจำวัน นับเป็นผลพลอยได้จากการท่องเที่ยว ที่หากใครไม่เคยไปสัมผัสย่อมไม่รู้ 



แหล่งที่มา : 
http://www.stou.ac.th

"สาธร พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ" เลิศล้ำคุณค่าของโบราณ


 หากใครมีโอกาสเดินทางมาเที่ยวยังจังหวัดสุโขทัย แล้วได้มาชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยกันแล้ว หลังออกจากอุทยานฯ มาไม่ไกลมากนัก อยากจะแนะนำให้ทุกคนลองแวะมาเที่ยวชม "ผ้าทองคำ" ที่หาชมได้ยากยิ่ง ที่ "สาธร พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ"

       "สาธร พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ" แห่งนี้ก่อตั้งโดย คุณสาธร โสรัจประสพสันติ ชาวบ้านหาดเสี้ยวที่มีใจรักในผ้าทอโบราณพื้นเมืองของบ้านหาดเสี้ยว และได้เก็บสะสมผ้าทอลายโบราณต่างๆ มานาน แล้วได้ตระหนักเห็นว่าหากไม่เก็บรักษาผ้าทอพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เอาไว้ ต่อไปภายภาคหน้าก็จะสูญหายจากไป ฉะนั้นจึงได้สะสมผ้าเก่าเหล่านี้ไว้มากมาย แล้วก็ได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา

 นักท่องเที่ยวที่สนใจอยากชมผ้าทองคำสามารถขอเข้าชมได้ฟรี ซึ่งคุณสาธรจะป็นผู้พานำชมพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเอง โดยภายในพิพิธภัณฑ์ฯ เต็มไปด้วยตู้กระจกจำนวนมาก ที่จัดแสดงผ้าทอโบราณนานาชนิด มีตู้โชว์ผ้าที่โดดเด่นซึ่งจัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณ 9 ลาย ได้แก่ ลายเครือน้อย ลายเครือกลาง ลายเครือใหญ่ ลายสิบหกขอ ลายแปดขอ ลายสี่ขอ ลายน้ำอ่าง และลายสองท้อง ซึ่งถูกเก็บรักษาโชว์ไว้ในตู้กระจกอย่างดี ผ้าซิ่นตีนจกเหล่านี้มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ซึ่งผ้าทอแต่ละผืนมีความประณีต มีลวดลายและสีสันบนตัวผ้าซิ่นเป็นรูปแบบดั้งเดิมที่วิจิตรงดงามตา



       มาถึงไฮไลท์ของผ้าที่จัดแสดงไว้ ที่มาแล้วต้องไม่พลาดชม นั่นคือ "ผ้าซิ่นทองคำ" (ซิ่นไหมคำ) ที่มีอยู่ 2 ผืนด้วยกัน ผืนแรกเป็นผืนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เป็นซิ่นเจ้านายเชียงตุง ทอด้วยดิ้นผสมทองคำราว 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผืนที่ 2 เป็นผืนที่มีความใหม่กว่า สั่งทอขึ้นด้วยดิ้นทองคำ 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกทอขี้นเพื่อใช้ในพิธีแต่งงาน ซึ่งผ้าซิ่นทองคำนี้ถือว่าเป็นผ้าทอที่มีความประณีต งดงาม และทรงคุณค่าเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผ้าทอตีนจกจากที่อื่นๆ ซึ่งมีลวดลายงดงามแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อาทิ ผ้าล้อสำหรับใช้ปูในพิธีแต่งงานจากบ้านน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ซิ่นตีนจกดิ้นเงินดิ้นทองของเจ้านายเชียงใหม่ ซิ่นตีนจกจากอ.ลอง จ.แพร่ ซิ่นตีนจกจากอ.นาน้อย จ.น่าน ซิ่นลาวครั่งจากจ.พิจิตรและจ.นครสวรรค์ ซิ่นตีนจกจากอ.ลับแล กิ่งอำเภอบ้านโคก จ.อุตรดิตถ์
       

       และภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในพิธีแต่งงานของชาวไทยพวน เครื่องกองบวช เครื่องแต่งกายสตรีไทยพวนในอดีต ส่วนด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ฯ มีเรือนไทยของชาวไทยพวนในสมัยโบราณ และมีพวกเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ต่างๆ จัดแสดงไว้ด้วย อีกทั้งมีการสาธิตการทอผ้าซิ่นตีนจกให้ได้ชมกันอีกด้วย และถ้าใครอยากได้ผ้าทอพื้นบ้านสวยๆ ก็มีให้เลือกซื้อหาได้ที่ร้านขายผ้าสาธร รวมถึงมีเครื่องเงิน และเครื่องทองสวยๆ ให้ได้เลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกัน

แหล่งที่มา :
http://www.manager.co.th

ของที่ระลึกเมืองมรดกโลก สุโขทัย

  • ของฝาก
เครื่องสังคโลก
เป็นเครื่องสังคโลกที่ทำเลียนแบบของเดีมได้เหมือนจริงและงดงามมาก เหมาะเป็นสินค้าที่ระลึก อย่างยิ่ง อีกทั้งราคายังย่อมเยา

เครื่องปั้นดินเผาทุ่งหลวง
อำเภอคีรีมาศ เป็นงานดินเผาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นหม้อรูปต่างๆ มีลายฉลุ หรือเป็นรูปสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย เช่น กบ อึ่งอ่าง สุนัข

ทองโบราณ
สินค้าที่ระลึกที่มีชื่อเสียง คุณค่าสูงทั้งด้านวัตถุและฝีมือช่างของ อ.ศรีสัชนาลัย ทำขึ้นใหม่จากฝีมือ คนท้องถิ่นโดยไม่ใช้เครื่องจักรใดๆช่วย โดยทำเลียนแบบเครื่องประดับโบราณสุโขทัย เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล ต่างหู แหวน เป็นต้น

เงินโบราณ
เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อสร้างงานและรายได้ให้แก่ชาวบ้าน เป็นงานฝีมือแท้ๆ ที่ใช้ความประณีตในแต่ละขั้นตอน ทำเลียนแบบเครื่องทองโบราณ หาชมได้ตามร้านเครื่องเงินในเขต อ. ศรีสัชนาลัย

ขนมเกลียว
เป็นของฝากประเภทขบเคี้ยวที่ขึ้นชื่ออีกชนิดหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย ทำจากแป้งหมี่ผสมไข่ ปรุงรส ด้วยพริกไทย เกลือ เคล้าให้เข้ากันก่อนจะนำมาปั้นเป็นเกลียว ทอดกรอบ คลุกน้ำตาล มีรสหวาน หาซื้อได้ตามร้านขายของฝากทั่วไป หรือสามารถติดต่อซื้อโดยตรงที่ ร้านครูแอ๊ว โทร. 612037 ร้านสุคนธา โทร. 612112

ถั่วทอด
เป็นของฝากขึ้นชื่อลือชาของ อ. ศรีสำโรง จนมีคนขนานนามว่า "ถั่วทอดสองร้อยปี" เนื่องจากมีการ ถ่ายทอดสูตรดั้งเดิมจากรุ่นปู่ย่า มาสู่รุ่นหลาน ทำจาก แป้งข้าวจ้าว แป้งหมี่ ไข่ กะทิ เกลือ พริกไทย และกลอยหั่น นำส่วนผสมทั้งหมดเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปทอดจนเหลืองกรอบ สามารถสั่งซื้อได้ โดยตรงที่ร้านลอนศิลป อ.ศรีสำโรง โทร.681443 และร้านถั่วทอดทั่วไปใน อ.ศรีสำโรง

กล้วยอบเนย
เป็นของฝากของ อ. คีรีมาศ คล้ายกับขนมรังนกซึ่งใช้มันเทศแต่ดัดแปลงมาใช้กล้วยแทน ทำมาจาก กล้วยน้ำว้าดิบปอกเปลือกซอยขวางเป็นชิ้นบางๆ ผึ่งลมไว้ครึ่งวันก่อนจะนำไปปรุงรสด้วยเกลือน้ำตาล และเนยครีม (คอฟฟี่เมท)

ผ้าหาดเสี้ยว
ในเขต อ. ศรีสัชนาลัย เป็นผ้าซิ่นตีนจกที่งดงามหลากหลายสี เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เป็นฝีมือของ ชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเมืองพวน ทางตอนเหนือของเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว

ผลิตภัณฑ์หินอ่อน 
ของอำเภอทุ่งเสลี่ยม มีของที่ระลึกและสินค้าประเภท เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่

  • ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก
อำเภอเมือง
- เตรื่องปั้นดินเผาลุงแฟง 311 หมู่ 3 ต.เมืองเก่า อ.เมือง

- ร้านคุณตา 120/3 ต.ธานี อ.เมือง โทร 612112 ขายของฝากประเภทขบเคี้ยว

- ร้านครูแอ๊ว 29/8 ถ.ศรีอินทราทิตย์ ต.ธานี อ.เมือง โทร 612037

- ศูนย์วัฒนธรรมสุโขทัย (น้ำค้าง) 214 ถ.จรดวิถีถ่อง ต.เมืองเก่า โทร 611049, 697022 อยู่ใกล้เมืองเก่าสุโขทัย จำหน่ายสินค้าพื้นเมืองทุกชนิด เช่น ผ้าทอ เครื่องจักสาน ผ้าหาดเสี้ยว ซิ่นตีนจก เครื่องข้าวตอกพระร่วง วัตถุโบราณ

- หจก.โฟร์วี 327/1-2 ถ.จรดวิถีถ่อง อ.เมือง จำหน่าย หินอ่อนและของที่ระลึกหินอ่อน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แจกันที่เขี่ยบุหรี่ ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน โทร 612456, 612978

- อาณาจักรพ่อกู สังคโลก 1-29 หมู่ 3 ต.เมืองเก่า อ.เมือง โทร 612180, 697050 ก่อนถึงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2 กม. เป็นศุนย์อนุรักษ์เครื่องสังคโลกสุโขทัย และผลิตเครื่องสังคโลกด้วยรูปแบบและลวดลายสมัยสุโขทัย

อำเภอศีรีมาศ
- บ้านทุ่งหลวง อยู่ตามเส้นทางสายสุโขทัย-กำแพงเพชร ไปประมาณ 15 กม. จะมีทางแยกซ้ายเข้าบ้านทุ่งหลวง ซึ่งมีการปั้นหม้อดินเผาสืบต่อมาแต่โบราณ มีรูปทรงและลวดลายสวยงาม บางบ้านมีการปั้นตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ และมีสินค้าไว้จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวด้วย

- ร้านแอ๋วศีรีมาศ 185/1 ถ.สุขาภิบาล ต.ตะโหนด โทร 695111 ขายของฝากประเภทขบเคี้ยว มีกล้วยอบเนยเป็นของที่ระลึกขึ้นชื่อ

อำเภอศรีสัชนาลัย
- บ้านหาดเสี้ยว เป็นแหล่งจำหน่ายผ้าทอพื้นเมือง เช่น ซิ่นตีนจก ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมต่าง ๆ ผ้าทอหาดเสี้ยว เป็นผ้าที่มีลวดลายสวยงามและมีชื่อเสียงมาก เกือบทุกบ้านจะมีกี่ทอผ้าตั้งอยู่และมีร้านจำหน่ายผ้าพื้นเมืองหลายร้าน เช่น

- ร้านเริง 406 ถ.สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ต.หาดเสี้ยว โทร 671129

- ร้านสาธร 477 หมู่ 2 ต.หาดเสี้ยว โทร 671143, 630058 มีพิพิธภัณฑ์ผ้าเก่าบ้านหาดเสี้ยว เปิดให้ชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น.

อำเภอทุ่งเสลี่ยม
- โรงงานหินอ่อน มีของที่ระลึกและสินค้า ประเภทหินอ่อน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่ และของที่ระลึกหินอ่อนอื่น ๆ นักท่องเที่ยวสามารถหาซี้อได้ตามเส้นทางสายทุ่งเสลี่ยมเถิน ห่างจากอำเภอประมาณ 2 นาที หรือที่ 201/1 หมู่ 2 ต.ทุ่งเสลี่ยม โทร 659060, 659213, (01) 926-4409

อำเภอศรีสำโรง
- ร้านถั่วทอดลอนศิลป์ 41/2 ถ.สิริมาลังค์ โทร 681443

แหล่งที่มา : 
http://www.paiduaykan.com